วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จรรยาบรรณเปรียบเสมือนศีลของผู้ประกอบวิชาชีพทุกสาขาที่พึงยึดถือปฏิบัติ เพื่อยกสถานภาพและเสรอมสร้างเกียรติคุณของผู้ประกอบวิชาชีพนั้น ๆ ให้สูงขึ้น
จรรยาบรรณเป็นแนวทางหรือกรอบการดำเนินชีวิตในวิชาชีพที่ผู้นั้นพึงยึดถือปฏิบัติจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทุกสาขามีจุดประสงค์ร่วมกันคือ มุ่งความเจริญ ความมั่นคงของผู้ปฏิบัติงาน และความเจริญก้าวหน้าของวิชาชีพนั้น ๆ ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของตนอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ นอกจากจะมีความเจริญก้าวหน้าและมีความมั่นคงในการประกอบวิชาชีพแล้วยังช่วยยกระดับวิชาชีพของตนให้มีเกียรติสูงส่งเป็นที่ยอมรับของบุคคลในสังคมทุกรพดับชั้น
จรรยาบรรณกับคุณธรรมเป็นสิ่งคู่กัน ดังนั้น ครูที่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณของครูได้อย่างครบถ้วน ก็คือครูที่มีคุณธรรม มีความเป็นครูอย่างสมบูรณ์นั่นเอง

ความหมายของจรรยาบรรณ
คำว่า จรรยาบรรณ เป็นคำสมาสระหว่าง จรรยา” ซึ่งหมายถึงความประพฤติหรือกิริยาที่ควรประพฤติ และอีกคำหนึ่งคือ บรรณ” ซึ่งหมายถึงเอกสารหรือหนังสือ เมื่อรวมกันเป็น จรรยาบรรณ” จึงมีความหมายว่า เอกสารหรือหนังสือที่ว่าด้วยข้อควรประพฤติปฏิบัติของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรืออาชีพใดอาชีพหนึ่ง
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของ จรรยา ไว้ว่า เป็นคำนามหมายถึงความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติในหมู่คณะ นิยมใช้ในทางที่ดี เช่น ไม่มีจรรยา หมายความว่าไม่มีความประพฤติที่ดี ส่วนคำว่า จรรยาบรรณ หมายถึงประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้นเพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้ (ราชบัณฑิตยสถาน 2525 : 210 – 213)
ดังนั้น เมื่อพิจารณาเฉพาะ จรรยาบรรณครู จึงหมายถึงประมวลความประพฤติหรือกิริยาอาการที่ผู้ประกอบวิชาชีพครูควรประพฤติปฏิบัติ เพื่อรักษาส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และฐานะของความเป็นครู

ประวัติจรรยาบรรณของครูไทย
ในบรรดาวิชาชีพชั้นสูงทุกสาขาวิชาชีพ จะมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของตนไว้เพื่อเป็นข้อกำหนดให้สมาชิกในวิชาชีพนั้น ๆ ได้ถือเป็นแนวทางสำหรับประพฤติปฏิบัติ เช่น
จรรยาบรรณของแพทย์ เรียกว่า จรรยาบรรณแห่งวิชาชะ เวชกรรม
จรรยาบรรณของวิศวกร เรียกว่า จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ วิศวกร
จรรยาบรรณของผู้พิพากษา เรียกว่า จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ตุลากร
จรรยาบรรณของทนายความ เรียกว่า ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529
จรรยาบรรณของพยาบาล เรียกว่า จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพพยาบาล และผดุงครรภ์
จรรยาบรรณของสถาปนิก เรียกว่า จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ สถาปัตยกรรม
ทุกจรรยาบรรณวิชาชีพ จะรับรองโดยพระราชบัญญัติของวิชาชีพนั้น ๆ
เมื่อพิจารณาถึงประวัติความเป็นมาของจรรยาบรรณสำหรับครูไทยแล้ว จะเห็นว่าตั้งแต่แรกตั้งโรงเรียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 อาชีพครูยังไม่มีจรรยาบรรณอย่างเป็นทางการ หรือยังไม่มีจรรยาบรรณที่เป็นลายลักษณ์อักษร ครูในสมัยแรก ๆ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2506 มีแต่ จรรยาบรรณครูในหัวใจ ครูทุกคนทำหน้าที่ครูด้วยวิญญาณครูหรือด้วยความสำนึกในความเป็นครู

จรรยาบรรณครูที่เป็นลายลักษณ์อักษร กำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2506 โดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา ท่านได้ออกระเบียบจรรยาบรรณสำหรับครูไทยขึ้นพร้อม ๆ กัน 2 ฉบับ คือ
ฉบับที่ 1 เรียกว่า ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยวินัยตามระเบียบประเพณีของครู พ.ศ. 2506
1. ครูต้องสนับสนุนและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลด้วยความบริสุทธิ์ใจ
2. ครูต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของครู ให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสถานศึกษา
3. ครูต้องสุภาพเรียบร้อย เชื่อฟัง และไม่แสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของการศึกษา
ในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ห้ามมิให้กระทำข้ามบังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปเป็นผู้สั่งให้กระทำ หรือได้รับอนุญาตเป็นพิเศษชั่วครั้งชั่วคราว
4. ครูต้องอุทิศเวลาของตนให้สถานศึกษา จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานมิได้
5. ครูต้องประพฤติตนอยู่ในความสุจริตและปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม
6. ครูต้องรักษาชื่อเสียงของครูมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว
ห้ามมิให้ประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์และชื่อเสียงของครู เช่น ประพฤติตนเป็นคนเสเพล เสพเครื่องดองของเมาจนไม่อาจครองสติได้ มีหนี้สินรุงรังหมกมุ่นในการพนัน กระทำผิดอาญา ประพฤติผิดในทางประเวณีต่อบุคคลหรือคู่สมรสของผู้อื่น กระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใด อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ของตน
7. ครูต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ และไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคลใด
8. ครูต้องถือและปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมของสถานศึกษา
9. ครูต้องรักษาความสามัคคีระหว่างครู และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหน้าที่การงาน
10. ครูต้องรักษาความลับของศิษย์ ผู้ร่วมงาน และสถานศึกษา
ฉบับที่ 2 เรียกว่าระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยามรรยาทตามระเบียบประเพณีของครู พ.ศ. 2506
1. ครูควรมีศรัทธาในอาชีพครูและให้เกียรติแก่ครูด้วยกัน
2. ครูควรบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
3. ครูควรใฝ่ใจศึกษาหาความรู้ความชำนาญอยู่เสมอ
4. ครูควรตั้งใจฝึกสอนศิษย์ ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
5. ครูควรร่วมมือกับผู้ปกครอง ในการอบรมสั่งสอนเด็กอย่างใกล้ชิด
6. ครูควรรู้จักเสียสละและรับผิดชอบในหน้าที่การงานทั้งปวง
7. ครูควรรักษาชื่อเสียงของคณะครู
8. ครูควรรู้จักมัธยัสถ์และพยายามสร้างฐานะของตนเอง
9. ครูควรยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ และไม่ลบหลู่ศาสนาอื่น
10. ครูควรบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม
จรรยาบรรณทั้งสองฉบับดังกล่าว ได้ยกเลิกหลังจากได้มีการประกาศใช้ระเบียบคุรุสภา ด้วยจรรยามรรยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู พ.ศ. 2526
ในปี พ.ศ. 2523 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ได้จัดประชุมสัมมนาเกี่ยวกับจรรยาบรรณครู มีข้อสรุปให้มีจรรยาบรรณครูขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งเรียกว่า จรรยาบรรณครู สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2523” แบ่งจรรยาบรรณออกเป็น 4 หมวดคือ หมวดอุดมการณ์ของครู หมวดเอกลักษณ์ครู หมวดวินัย แห่งวิชาชีพครู และหมวดบทบาทของครูต่อบุคคลและสังคม แต่เนื่องจากจรรยาบรรณครูฉบับนี้มิได้ มีการประกาศใช้เป็นทางการ จึงไม่มีผลในทางปฏิบัติมากนัก
ต่อมาคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภามีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปรับปรุงจรรยาบรรณครูขึ้นใหม่ โดยหลอมรวมระเบียบคุรุสภาทั้งสองฉบับกับจรรยาครูของคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติเข้าด้วยกัน เป็นระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู พ.ศ. 2526 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 สิงกาคม 2526 มีรายละเอียดดังนี้
ระเบียบคุรุสภา
ว่าด้วยจรรยามรรยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู พ.ศ. 2526
...............................................................
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบคุรุสภา ว่าด้วยจรรยามรรยาทตามระเบียบประเพณีของครู และระเบียบคุรุสภาว่าด้วยวินัยตามระเบียบประเพณีของครูเสียใหม่ให้ เหมาะสม
คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 28 แห่ง พระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู พ.ศ. 2526
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2526 เป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยามรรยาท ตามระเบียบประเพณีของครู พ.ศ. 2506 ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยวินัย ตามระเบียบประเพณีของครู และระเบียบหรือคำสั่งอื่นใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้
ข้อ 4 ครูต้องมีจรรยามรรยาทอันดีงามและต้องอยู่ในวินัยตามระเบียบประเพณีของครูดังต่อไปนี้
4.1 เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
4.2 ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
4.3 ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่อุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานมิได้
4.4 รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของของครู
4.5 ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงาน โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา
4.6 ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือน และปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริต หรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ
4.7 ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการโดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตนและไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน
4.8 ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรม ไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
4.9 สุภาพเรียบร้อย ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา
4.10 รักษาความสามัคคีระหว่างครู และช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน
ข้อ 5 ให้เลขาธิการคุรุสภาเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ 23 สิงกาคม 2526
ชวน หลีกภัย
(นายชวน หลีกภัย)
รัฐมนตรีการกระทรวงศึกษาธิการ
ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา
สำหรับจรรยาบรรณครูที่ใช้ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2541) เรียกว่า ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539 มีรายละเอียดดังนี้
ระเบียบคุรุสภา
ว่าด้วยจรยาบรรณครู
พ.ศ. 2539
.................................................................
โดยที่เห็นเป็นการสมควรให้มีการปรับปรุงระเบียบคุรุสภา ว่าด้วยจรรยา มารยาท และวินัยตามระเบียบประเพณีครู พ.ศ. 2526 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6(2) และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาจึงวางระเบียบไว้เป็นจรรยาบรรณครู เพื่อเป็นหลักปฏิบัติในการประกอบวิชาชีพครู
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539
ข้อ 2 ระเบียบให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู พ.ศ. 2526 และให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ 4 กำหนดให้ครูมีจรรยาบรรณดังต่อไปนี้
(1) ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือส่งเสริมให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า
(2) ครูต้องอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะและนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้เกิดแก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ
(3) ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สิติปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคมของศิษย์
(4) ครูต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และไม่ใช้ให้ศิษย์กระทำการใด ๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ
(5) ครูต้องพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจสังคมและการเมืองอยู่เสมอ
(6) ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กร วิชาชีพครู
(7) ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์
(8) ครูพึงประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย
ข้อ 5. ให้เลขาธิการคุรุสภารักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2539
สุขวิช รังสิตพล
(นายสุวิช รังสิตพล)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา

ประโยชน์ของจรรยาบรรณ
จรรยาบรรณ มีความสำคัญอย่างมากต่อการประกอบการหรือการประกอบอาชีพทุกชนิด เพราะจรรยาบรรณจะช่วยควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกหรือผู้ประกอบการแต่ละคนในกลุ่มให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวมทั้งทำให้กลุ่มมีความสมัครสมานสามัคคีและปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นจรรยาบรรณยังช่วยให้การบริการต่อผู้อื่นของผู้ปฏิบัติการหรือกลุ่มผู้ประกอบการเป็นไปอย่างมีคุณธรรม ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
ชำเลือง วุฒิจันทร์ ได้กล่าวถึงประโยชน์ของจรรยาบรรณไว้ดังนี้
1. จรรยาบรรณช่วยควบคุมมาตรฐาน รับประกันคุณภาพ และปริมาณที่ถูกต้องในการประกอบการ และการดำเนินงานของผู้ประกอบการ
2. จรรยาบรรณช่วยควบคุมจริยธรรมของผู้ประกอบการให้เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ สุจริต และยุติธรรม
3. จรรยาบรรณช่วยส่งเสริมมาตรฐาน คุณภาพ และปริมาณของผลผลิตที่ผู้ประกอบการจำทำขึ้นให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่เสมอ
4. จรรยาบรรณช่วยส่งเสริมจริยธรรมของผู้ประกอบการ และผู้ดำเนินการให้มีความเมตตา กรุณา เห็นอกเห็นใจต่อผู้ร่วมงานและผู้รับผิดชอบ
5. จรรยาบรรณลดการเอารัดเอาเปรียบ การ)อ)ล ความเห็นแก่ตัวตลอดจน ความมักง่าย ใจแคบไม่ยอมเสียสละ
6. จรรยาบรรณช่วยเน้นให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในภาพพจน์ที่ดีของผู้มี จริยธรรมเช่นในเรื่องของการเสียสละ การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนและการรับผิดชอบในหน้าที่การงาน
7. จรรยาบรรณช่วยทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิตามกฎหมายสำหรับผู้ดำเนินการหรือผู้ประกอบการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามทำนองคลองธรรม (ชำเลือง วุฒิจันทร์ 2524 : 131)
สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพครูจำเป็นต้องยึดปฏิบัติตามจรรยาบรรณครูอย่าง เคร่งครัดเพราะหน้าที่ของครูเกี่ยวข้องผูกพันอยู่กับผู้คนจำนวนมากมาย ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชาติให้ดีขึ้น ครูจึงต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของศิษย์และบุคคลทั่วไป การปฏิบัติตามจรรยาบรรณครูจะเป็นการยกระดับมาตรฐานในการดำรงชีวิตของครูเอง รวมทั้งมาตรฐานวิชาชีพครูให้สูงขึ้น จักได้รับการยอมรับนับถือ การยกย่องให้เกียรติจากบุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวาง ประชาชนทั่วไปได้รับสิ่งที่ดีงามจากการถ่ายทอดของครูจึงเกิดความความสำนึก ตระหนักในหน้าที่ กระทำตนเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมก็จะมีน้อยลง บ้านเมืองจะมีแต่ความสงบสุขร่มเย็นพัฒนาก้าวหน้าไปได้ด้วยดี

คุณธรรมสำหรับครู
ความหมายของคุณธรรม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ให้ความหมายของคุณธรรมไว้ว่าเป็นสภาพคุณงามความดี (ราชบัณฑิตยสถาน 2525 : 187) และในหนังสือ Dictionary of Education ให้ความหมายของ คุณธรรม” (Virtue) ไว้ดังนี้
1. คุณธรรม หมายถึง ความดีงามของลักษณะนิสัย หรือพฤติกรรรมที่ได้กระทำจนเคยชิน
2. คุณธรรม หมายถึง คุณภาพที่บุคคลได้กระทำตามความคิดและมาตรฐานของสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับความประพฤติและศีลธรรม (Good. 1973 : 641)
จากข้อคิดความเห็นต่าง ๆ ข้างต้น สรุปความได้ว่า คุณธรรม หมายถึงคุณสมบัติที่เป็นความดี ความถูกต้องซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจของบุคคล ซึ่งพร้อมที่จะกระทำพฤติกรรม ต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อผู้อื่นหรือทั้งตนเองและผู้อื่น ดังนั้น คุณธรรมของครู ก็คือคุณสมบัติที่เป็นความดีความถูกต้องเหมาะสม ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจของครู และเป็นแรงผลักดันให้ครูกระทำหน้าที่ของครูอย่างถูกต้อง เหมาะสมและดียิ่ง


ความสำคัญของคุณธรรมที่มีต่อครู

คุณธรรมของครูเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะคุณธรรมเป็นเครื่องประกันคุณภาพของครูศิษย์จะเคารพยำเกรง เชื่อถือ ผู้ปกครองจะมีความเคารพและศรัทธา สถาบันวิชาชีพครูจะมีความเจริญก้าวหน้า สังคมและประเทศชาติจะรุ่งเรืองและมั่นคง ย่อมต้องอาศัยคุณธรรมของครูเป็นปัจจัยสำคัญ ฉะนั้น ครูกับคุณธรรมจึงเป็นของคู่กัน หากครูขาดคุณธรรมเมื่อใด ก็ไม่ผิดอะไรกับนักบวชที่ไร้ศีลเมื่อนั้น
กล่าวโดยสรุป ครูที่มีคุณธรรม ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ ดังนี้
1. ด้านตัวครู
1.1 ทำให้ครูมีความเจริญก้าวหน้าและมั่นคงในอาชีพ
1.2 ได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากบุคคลทั่วไป เป็นที่เคารพเชื่อฟังของศิษย์
1.3 มีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ไร้ภยันตรายใด ๆ เพราะแวดล้อมไปด้วยความรักความนับถือจากศิษย์และปวงชนทั่วไป
1.4 ครอบครัวมีความมั่นคงและสงบสุข ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ฝืดเคือง
2. ด้านสถาบันวิชาชีพ
2.1 ทำให้ชื่อเสียงของคณะครู เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของปวงชน
2.2 งานวิชาชีพครูมีความเจริญก้าวหน้า เพราะครูอาจารย์ทำงานเต็มกำลังความสามารถ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
2.3 สถาบันการศึกษาได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ เพราะได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากประชาชนด้วยความจริงใจ
3. ด้านสังคมหรือชุมชน
3.1 พลเมืองของสังคมเป็นคนดีมีคุณธรรมสูง รู้จักสิทธิและหน้าที่
3.2 สังคมมีสันติภาพเพราะประชาชนมีสันติสุข
3.3 สังคมได้รับการพัฒนาให้เจริญอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน
4. ด้านความมั่นคงของชาติ
4.1 สถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ มีความมั่นคง
4.2 ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมของชาติ มีความมั่นคง เพราะครูอาจารย์ได้อบรมสั่งสอนศิษย์ให้มีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม


หลักคุณธรรมสำหรับครู

หลักคุณธรรมที่จำนำมากล่าวในที่นี้ คือ หลักพุทธธรรม” ซึ่งเห็นว่า ผู้ที่เป็นครูอาจารย์ควรให้ความสนใจศึกษาและนำไปใช้เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติตนและอบรมสั่งสอนศิษย์
หลักธรรมที่ครู อาจารย์ควรมีความรู้ความเข้าใจและนำไปใช้มีดังนี้
1. คุณธรรมสี่ประการ เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่คนไทย เมื่อ พ.ศ. 2525 เป็นคุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษา และน้อมนำมาปฏิบัติมีอยู่ 4 ประการ ดังนี้
1.1 การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
1.2 การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติในความสัจ ความดีนั้น
1.3 การอดทน อดกลั้นและอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าด้วยเหตุประการใด
1.4 การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริตและรู้จักที่สละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
2. กัลยาณมิตรธรรม ผู้เป็นครูดีจะต้องยึดมั่นในคุณสมบัติของครู หรือของมิตรที่ดี มิตรแท้ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติอันเป็นเหตุให้เกิดความสุขความเจริญทั้งแก่ศิษย์และแก่ตัวครูเอง มี 7 ประการด้วยกัน คือ
2.1 ปิโย เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เพราะครูทำตนให้เป็นที่รักของศิษย์
2.2 ครุ เป็นที่เคารพ เพราะมีความหนักแน่น น่าเคารพยำเกรง
2.3 ภาวนิโย เป็นที่สรรเสริญ เพราะฝึกฝนอบรมตนให้เจริญด้วยความรู้และเชี่ยวชาญ
2.4 วัตตา เป็นผู้ว่ากล่าว มีความเพียรพร่ำสอน พร่ำเตือนศิษย์ด้วยความมีเหตุผล
2.5 วจนักขโม เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ แม้จะถูกกระทบกระทั่งเสียดสีลองภูมิ
2.6 คัมภีร์คถังกัตตา เป็นผู้กล่าวถ้อยคำอันลึกซึ้ง สอนให้เข้าใจได้แจ่มแจ้งและลุ่มลึก
2.7 โนจัฏฐาเน นิโยชเย พึงนำไปในฐานะที่ดี ในตำแหน่งที่ดีไม่ชักชวนในฐานะอันไม่สมควร ไม่ชักนำศิษย์ไปในทางเสื่อมเสีย
3. อิทธิบาทสี่ คือ ธรรมมะซึ่งเป็นวิถีทางแห่งความสำเร็จ ได้แก่
3.1 ฉันทะ คือ ความรัก ครูควรมีความรัก ความพอใจในการสอน รักวิชาชีพครู รักที่จะเห็นศิษย์มีวิชาความรู้ มีความเจริญก้าวหน้า และประสบความสำเร็จในชีวิตการสอนการให้คำปรึกษากับผู้เรียนก็ทำไปด้วยใจรัก ไม่เพียงแต่ทำเพราะเป็นหน้าที่
3.2 วิริยะ ครูต้องเป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็ง มานะพยายาม พากเพียรที่จะค้นคว้าหาความรู้แปลก ๆ ใหม่ ๆ มาสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้กว้างขวางและลึกซึ้ง
3.3 จิตตะ คือ ความใส่ใจ ความฝักใฝ่ในงานที่ทำ รับผิดชอบในงานที่ตนสอนมีความตั้งใจ มีความมั่นใจแน่วแน่ในอันที่จะถ่ายทอดความรู้ ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมแก่ศิษย์
3.4 วิมังสา คือ การไตร่ตรองให้เหตุผล ครูควรเป็นผู้ที่ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ คิดค้นหาเหตุผล รู้จักหาวิธีทำงานให้สำเร็จรวดเร็ว และควรที่จะได้หาทางกระตุ้นให้ศิษย์รู้จักคิด ไตร่ตรองพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน และมีเหตุผลด้วย
4. สังคหวัตถุสี่ คือ ธรรมมะอันเป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์ ยึดเหนี่ยวน้ำใจคนมี 4 ประการ คือ
4.1 ทาน คือการให้ ครูควรเป็นผู้ให้ความรู้และแนวคิดที่ถูกที่ควรให้กับผู้เรียนรวมทั้งวิธีคิด วิธีศึกษาหาความรู้ด้วย เพื่อศิษย์จะได้นำไปใช้ในการศึกษาหาความรู้ และดำเนินชีวิตต่อไป นอกจากวิทยาการแล้วอาจให้กำลังใจ ให้ความรัก ความเมตตา ให้อภัยเมื่อศิษย์หรือบุคคลที่ครูเกี่ยวข้องด้วยทำผิดพลาด
4.2 ปิยวาจา ครูควรเป็นผู้ที่เจรจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ สุภาพ นิ่มนวล รู้จักใช้ถ้อยคำพูดจาให้เหมาะสมในการให้คำปรึกษาต่าง ๆ กับศิษย์
4.3 อัตถจริยา ครูควรประพฤติปฏิบัติหรือกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ศิษย์และบุคคลอื่น ๆ นอกจากให้คำปรึกษาแนะนำทางวิชาการแล้ว ควรที่จะได้บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ในการพัฒนาชุมชน
4.4 สมานัตตตา ครูควรทำตนเป็นกันเองกับศิษย์ ไม่ถือตัวทำตนเสมอต้นเสมอปลาย ครูควรเป็นคนที่หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาทักทายหรือทำงานร่วมกับทุกคนได้ดีอย่างเป็นกันเอง
5. พรหมวิหารสี่ คือ ธรรมะสำหรับผู้ใหญ่ สำหรับผู้ที่จะปกครองคน ได้แก่
5.1 เมตตา คือ ความรัก ครูควรมีความรัก เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อศิษย์และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
5.2 กรุณา คือ ความสงสาร เมื่อศิษย์หรือบุคคลต่าง ๆ ที่ครูเกี่ยวข้องด้วยประสบทุกข์ยาก ก็รู้สึกสงสารเห็นอกเห็นใจ และพยายามหาทางช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์
5.3 มุทิตา คือ ความเบิกบาน ความยินดี ครูที่ดีเมื่อศิษย์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยประสบความสุข ความสำเร็จครูก็พลอยยินดีเกิดความปิติไปด้วย
5.4 อุเบกขา คือ ความวางเฉย วางตัวเป็นกลาง ครูที่ดีควรวางตนเป็นกลางไม่เอนเอียง ไม่ลำเอียงหรือมีอคติต่อนักเรียนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ครูควรมีความปรารถนาดีต่อศิษย์ทุกคนโดยเสมอภาคกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
6. ฆราวาสธรรม เป็นธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน ครองตน ครองงาน เป็นธรรมะที่ช่วยให้การปกครองเป็นไปด้วยดี ได้แก่
6.1 สัจจะ คือ ความจริง ซื่อสัตย์ต่อกัน ครูควรเป็นผู้ที่มีความจริงใจต่อศิษย์เพื่อนครูด้วยกัน ตลอดจนบุคคลอื่น ๆ
6.2 ทมะ คือ ความข่มใจในการทำงานของครู อาจเกิดความโกธร ความกระวนกระวายใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การรู้จักข่มใจจะเป็นทางที่ช่วยคุ้มครองครูให้มีความสุข มีจิตใจแจ่มใส เบิกบานสามารถทำงานได้ดี
6.3 ขันติ คือ ความอดทน ครูจะต้องอดทนต่อการทำงานหนัก การทำงานร่วมกับผู้อื่น อดทนต่อคำพูดของบุคคลหลายฝ่าย ความอดทนจะช่วยให้ครูทำงานต่าง ๆ ได้ผลดี
6.4 จาคะ คือ การเสียสละให้ปัน ครูควรรู้จักเสียสละแบ่งปันสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่ผู้อื่น สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนได้ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
7. ขันติ โสรัจจะ คือธรรมะที่ทำให้คนงาม ได้แก่
7.1 ขันติ คือความอดทน อดกลั้น เพื่อบรรลุความดีงามและมุ่งหมายอันชอบ
7.2 โสรัจจะ คือ ความสงบเสงี่ยม ครูควรเป็นผู้สำรวจทั้งกาย วาจา ใจ มีอัธยาศัยงาม มีกิริยามารยาทเรียบร้อย เป็นตัวอย่างที่ดีของเด็ก
8. หิริ โอตตัปปะ คือ ธรรมะที่คุ้มครองโลก ได้แก่
8.1 หิริ คือ ความละอายต่อบาป ต่อการทำความชั่ว ครูควรมีความละอายแก่ใจเมื่อจะกระทำความผิด กระทำความชั่วหรือกระทำบาป
8.2 โอตตัปปะ คือ ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อความชั่ว ครูจะต้องพยายามกระทำความดีและอบรมศิษย์ให้ปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควรด้วย
9. สัปปุริสธรรม 7 ประการ เป็นธรรมสำหรับคนดี ได้แก่
9.1 ความเป็นผู้รู้จักเหตุ – ธัมมัญญุตา
9.2 ความเป็นผู้รู้จักผล – อัตถัญญุตา
9.3 ความเป็นผู้รู้จักตน – อัตตัญญุตา
9.4 ความเป็นผู้รู้จักประมาณ – มัตตัญญุตา
9.5 ความเป็นผู้รู้จักกาล – กาลัญญุตา
9.6 ความเป็นผู้รู้จักชุมชน – ปริสัญญุตา
9.7 ความเป็นรู้จักบุคคล – ปุคคสัญญุตา
10. อบายมุข 6 คือทางแห่งความเสื่อม 6 ประการ ครูที่ดีพึงละเว้นอบายมุข 6 ประการ ได้แก่
10.1 ดื่มน้ำเมา
10.2 เที่ยวกลางคืน
10.3 เที่ยวดูการละเล่น
10.4 คบคนชั่วเป็นมิตร
10.5 เล่นการพนัน
10.6 เกียจคร้านการทำงาน
11. อคติ 4 คือ ความไม่เที่ยงหรือความลำเอียง ครูที่ดีพึงปฏิบัติตนให้ปราศจากอคติ 4 ประการได้แก่
11.1 ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะความรัก
11.2 โทสาคติ ลำเอียงเพราะความโกรธ
11.3 โมหาคติ ลำเอียงเพราะความเขลา โง่ รู้เท่าไม่ถึงการณ์
11.4 ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัว
12. สุจริต 3 คือความประพฤติดีประพฤติชอบ ได้แก่
12.1 กายสุจริต ความประพฤติชอบด้วยกาย มี 3 คือ งดเว้นการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ และการประพฤติผิดในกาม
12.2 วจิสุจริต ความประพฤติชอบด้วยวาจา มี 4 คือ งดเว้นการพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ ละการพูดเพ้อเจ้อ
12.3 มโนสุจริต ความประพฤติชอบด้วยใจมี 3 คือ การไม่เพ่งอยากได้ของคนอื่น การไม่พยาบาทและการมีความเห็นชอบ
ธรรมะทั้งหลายดังได้กล่าวมาแล้ว ถ้าครูได้ใช้เป็นเครื่องยึดถือ และปฏิบัติจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตนดี ปฏิบัติตนชอบและจะเป็นเครื่องช่วยปกป้องประคับประคองให้ครูสามารถกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้สำเร็จ และดำรงชีวิตได้ด้วยความผาสุก

สรุปท้ายบท

จรรยาบรรณและคุณธรรม เป็นสิ่งสำคัญที่ครูอาจารย์ทุกคนต้องมีประจำในจิตใจเพราะถ้าหากครูอาจารย์ขาดหรือบกพร่องในจรรยาบรรณและคุณธรรมเมื่อใด ก็เปรียบได้ดังพระภิกษุสงฆ์ที่บกพร่องในศีลหรือวินัยของสงฆ์ฉันนั้น ซึ่งโดยปกติแล้ว จรรยาบรรณและคุณธรรมเป็นสิ่งที่คู่กัน กล่าวคือ ครูอาจารย์ผู้ใดประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบแห่งคุณธรรม ก็สามารถเรียกได้ว่า ครูอาจารย์ผู้นั้นเป็นผู้มีจรรยาบรรณของครูด้วย แต่เมื่อพิจารณาโดยทั่วไปในปัจจุบันผู้ที่เข้ามาประกอบวิชาชีพครูที่จำนวนมาก การที่จะให้ครูอาจารย์มีคุณธรรมโดยสามัญสำนึกในจิตใจอย่างแท้จริงเป็นเรื่องยาก และไม่สามารถจะสังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัด การที่สถาบันวิชาชีพครู คือ คุรุสภา ได้ออกจรรยาบรรณให้ครูอาจารย์ได้มีแนวสำหรับประพฤติปฏิบัติ จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ครูอาจารย์ได้มีความเป็นครูอาจารย์ที่สมบูรณ์ ยิ่งขึ้น
คุณธรรมสำหรับครูอาจารย์ตามที่กล่าวมาแล้วมีมากมาย ดังนั้น เพื่อช่วยให้ครูอาจารย์ได้มีหลักเพื่อความสำนึกในคุณธรรมของครูอย่างย่อ ๆ จึงขอสรุปสมบัติที่แท้จริงของครูไว้ดังนี้
1. ปัญญา คือ ความรอบรู้ในวิชาการทั้งหลายทั้งปวง รวบทั้งความรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นไปของชีวิต รู้จักชีวิตอย่างถูกต้อง รู้จักการแก้ปัญหาในการดำรงชีวิต สามารถที่จะช่วยศิษย์เกิดความสว่างทางปัญญาได้
2. กรุณา คือ ความปรารถนาดีที่คอยเป็นพลังผลักดัน ให้ครูพร้อมที่จะจุดประทีปทางปัญญาให้แก่ศิษย์ เพื่อช่วยให้ศิษย์ เพื่อช่วยให้ศิษย์หลุดพ้นจากความโง่ และความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
3. บริสุทธิ์ มีความบริสุทธิ์ทั้งกายและจิตใจ กล่าวคือทางกายของครูจะต้องปราศจากการกระทำที่เป็นกายทุจริต วจีทุจริต ทั้งหลายทั้งปวง ส่วนทางจิตใจของครูก็ต้องคิดแต่ในทางที่ดีหรือมีมโนสุจริต หากครูจะว่ากล่าวตักเตือนศิษย์ ก็เป็นการกระทำเพื่อความปรารถนาดีอย่างแท้จริง

คำถามท้ายบท

ให้ตอบคำถามต่อไปนี้แต่พอสังเขป แต่ได้ใจความครบถ้วนสมบูรณ์
1. จรรยาบรรณ หมายถึงอะไร จรรยาบรรณครูมีความสำคัญต่อครูในแง่ใดบ้าง
2. จรรยาบรรณครูฉบับ พ.ศ. 2506 ทั้งสองฉบับกับจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2526 มีลักษณะเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
3. จรรยาบรรณครูฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ครูต้องปฏิบัติต่อสังคม สถาบันวิชาชีพศิษย์ บุคคลอื่น และต่อตัวเองไว้อย่างไรบ้าง
4. คุณธรรม หมายถึงอะไร มีความสำคัญอย่างไร
5. จงอธิบายหลักคุณธรรมต่อไปนี้
5.1 เหตุใดหิริโอตตัปปะ จึงได้ชื่อว่าเป็นธรรมคุ้มครองโลกหรือธรรมโลกบาล
5.2 เหตุใด ขันติ โสรัจจะ จึงได้ชื่อว่าเป็นธรรมทำให้งาม
5.3 ธรรมสำหรับผู้ครองชีวิตคือข้อใด มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
5.4 ธรรมที่เป็นหลักการสงเคราะห์มีอะไรบ้าง
5.5 ทางแห่งความเสื่อมหรือทางแห่งความหายนะมีอะไรบ้าง
หนังสืออ้างอิงประจำบท
ชำเลือง วุฒิจันทร์. หลักการการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่นักเรียน. กรุงเทพมหานคร :
โรงพิมพ์การศาสนา,2524
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525. กรุงเทพมหานคร :
สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์2525.

Good, Carter V. Dictionary of Education. New York. McGraw-Hill Book Company1973.